หลายๆ คนอาจจะได้ยินเรื่องการ ขายคาร์บอนเครดิต
กันหน่วงหนักในช่วงหลังมานี้ ตามเทรนด์รักษ์โลกที่หลายๆ
หน่วยงานให้ความสำคัญและมุ่งสู่การเป็นองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากับศูนย์
แต่รู้หรือไม่ สำหรับเกษตรกรอย่างเราๆ ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และนำกิจกรรมเกษตรที่ทำสร้างเป็น “คาร์บอนเครดิต” ขายในตลาดกลาง
ลดโลกร้อนและสร้างรายได้เพิ่มได้ด้วย
มาถึงตรงนี้ คนที่ปลูกป่าเศรษฐกิจและทำเกษตร อาจจะเริ่มตาลุกวาว เพราะทั้ง 2
รูปแบบการเกษตรสามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวทั้งด้วยยังเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย
และกฎเกณฑ์เงื่อนไขค่อนข้างละเอียดซึ่งพ่วงด้วยค่าใช้จ่ายอีกหลายชั้น
แต่อย่าเพิ่งท้อ ลองมาศึกษาดูกันก่อนว่าการขายคาร์บอนเครดิตนั้น
มีขั้นตอนอย่างไร ขายให้ใคร มีคนซื้อจริงไหม และคุ้มกับการลงทุนไปหรือไม่
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อน ว่าอะไรคือคาร์บอนเครดิต
ในจุดประสงค์ของการสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์
อันเกิดขึ้นจากหลายๆ กิจกรรมของมนุษย์ทั้งการจราจร อุสาหกรรม และการเกษตร
ถามว่าอะไรคือก๊าซเรือนกระจก เล่าง่ายๆ
คือก๊าชชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด
จำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกให้คงที
แต่หากมีมากขึ้นจำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
เกิดเป็นภาวะเรือนกระจกอย่างที่เป็นข่าวในแทบทุกวันนี้
ซึ่งสารสำคัญที่ทำให้เกิดได้แก่ Co2 CH4 N20 HFCs PFCs SF6 NF3
(ตามพิธีสารเกียวโต)
ทั่วโลกจึงผลักดันให้เกิดการลดคาร์บอนอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้ตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization
(Public Organization :TGO) หน่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง วิเคราะห์
กลั่นกรอง ติดตามประเมินผลโครงการที่ยื่นคำรองขอรับรองคาร์บอนเครดิต
ซึ่งก่อนจะนำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอนนั้นจะต้องได้การรับรองจาก
อบก. ก่อน เรียกว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างครบวงจร
ตลาดคาร์บอนแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) โดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
(Legally Binding Target)
หากผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ
ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย
ส่วนอีกประเภทคือตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ
ซึ่งเป็นประเภทที่ดำเนินการในเมืองไทยในขณะนี้
กิจกรรมที่อบก.ระบุไว้ให้นำมาขายคาร์บอนเครดิตนั้นมีหลายประเภท
ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรโดยตรงมี 2โครงการคือการปลูกป่า/ต้นไม้
และการทำเกษตร
ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ปลูกอย่างไรจึง ขายคาร์บอนเครดิต ได้
ต้นไม้ 58 ชนิดที่นอกจากจะไปค้ำประกันเงินกู้ได้แล้ว
ยังสามารถนำมาขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย โดยตั้งมีพื้นที่ 10
ไร่(รวมหลายแปลงได้) ตามที่อบก.ระบุไว้สามารถจำแนกประเภทปลูกป่า/ต้นไม้
เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ปลูกป่าอย่างยั่งยืนและสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว
จะต้องเป็นไม้ยืนต้นที่เนื้อไม้และมีวงปี
แต่ละปีมีความหนาของลำต้นเพิ่มขึ้น ขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่
สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ไม่เกิน 16,000
ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ปลูกและดูแลอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ
หากเป็นพื้นที่ป่าต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าดั้งเดิม
และไม่มีการนำไม้ออกทั้งหมดในช่วง 10 ปีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ
และที่สำคัญจะต้องมีเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินทางกฎหมาย เช่น
โฉนดที่ดิน (น.ส.4) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)
เอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.) เป็นต้น
ต้นไม้ 58 ชนิดที่ ขายคาร์บอนเดรดิต ได้แก่
ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง
(ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง
นนทรี สัตบรรณตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลาอินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควายสาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ไม้สกุลจำปี
(จำปีสิรินธร – จำปีป่า) จำปีถิ่นไทย (จำปีดง,จำปีแขก,จำปีเพชร)
แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร
มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี
พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด
ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน มะขาม
สวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว (Economic Fast Growing Tree Plantation)
ต้นไม้ที่ปลูกจะต้องเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วตามที่อบก.ระบุไว้ เช่น
ปาล์มน้ำมัน ไผ่ มะพร้าว เป็นต้น ปลูกและดูแลอย่างถูกวิธี
ก่อนดำเนินโครงการต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบตัดฟันเพื่อทำการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วรอบใหม่
กำหนดรอบตัดฟันไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่มีการนำไม้ออกตลอด 10 ปี
(สามารถตัดแต่งบำรุงรักษาได้)
หากเป็นพื้นที่ป่าต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าดั้งเดิม
และมีเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินทางกฎหมาย เช่น โฉนดที่ดิน (น.ส.4)
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)
เอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.) เป็นต้น